จากที่เมื่อวาน ลงเรื่องการเจรจาหนี้กับแบงก์ไป
วันนี้เลยอยากจะมาขยายความ ลงรายละเอียด
เรื่องโปรแกรมการแก้หนี้ ให้เข้าใจและนำไปใช้ได้เหมาะสมครับ
เนื่องจากช่วงนี้ ไวรัส Covid-19 เป็นสถานการณ์ที่เข้ามากระทบทันที
ทำให้รายได้ลดน้อยลงกระทันหัน
สิ่งที่เราต้องการ คือการเพิ่มสภาพคล่อง ให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เสียประวัติการชำระหนี้ ไม่เสียเครดิต
เคล็ดลับการแก้หนี้ การเพิ่มสภาพคล่อง คือ
- การพักชำระเงินต้น
- การพักชำระค่างวด
- การลดยอดชำระขั้นต่ำ
การพักชำระเงินต้น
ใช้กับสินเชื่อประเภทที่เป็นเงินกู้ ผ่อนชำระเป็นรายงวด
เช่น เงินกู้บ้าน เงินกู้สินเชื่อบุคคล
โดยแบงก์จะยอมให้เราจ่ายแค่ค่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในงวดนั้น
ไม่ต้องจ่ายเงินต้น
คิดยังไง
สินเชื่อพวกนี้ ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ดังนั้น ทุกๆงวดที่เราจ่าย จะมีการคำนวณว่าดอกเบี้ยในงวดนั้นเป็นเท่าไหร่
เงินที่เราจ่ายไป จะไปชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในงวดนั้นก่อน
ส่วนที่เหลือ ก็จะไปตัดเงินต้น
ตัวอย่างเช่น
ยอดคงเหลือเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี
ดอกเบี้ยที่เกิดในเดือนนั้นคือ 16,500 บาท
ถ้าค่างวด 30,000 บาท
ในช่วงปกติ
การชำระในงวดนั้น ก็จะเป็นดอกเบี้ย 16,500 บาท
ส่วนที่เหลือ 13,500 บาท จะไปตัดเงินต้น
ทีนี้ ในช่วงพักชำระเงินต้น
เนื่องจาก เราไม่ต้องจ่ายเงินต้นเลย
ค่างวดก็จะลดลง เหลือแค่ 16,500 บาท ซึ่งเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น
ภาระต่อเดือน ก็จะลดลง
จาก 30,000 บาท เหลือแค่ 16,500 บาท
มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมา 13,500 บาท
การพักชำระค่างวด
ส่วนใหญ่ใช้กับสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ
เช่นเช่าซื้อรถยนต์ เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์
การอนุมัติให้หยุดพักชำระหนี้
แบงก์จะพิจารณาถี่ถ้วนหน่อยครับ
เพราะมันเท่ากับขาดหายจากการติดต่อกันไปเลยหลายเดือน
ต้องมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมายาวนานพอสมควร
แบงก์จะให้เราหยุดพัก ไม่ต้องชำระค่างวดเลย ทั้งจำนวน
แล้วเอางวดที่พักชำระนั้น ไปต่อท้ายงวดสุดท้ายตามสัญญาเดิมที่ทำไว้
ตัวอย่าง
เช่าซื้อรถยนต์
กำหนดเดิม ตามสัญญา จะผ่อนครบงวดสุดท้ายในเดือน ม.ค. 2565
เราขอหยุดพักชำระค่างวด 6 งวด ตั้งแต่งวดเดือน มี.ค. 2563 ถึง ส.ค. 2563
แล้วกลับไปเริ่มชำระตามปกติ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563
6 งวดที่ขาดหายไป ก็จะถูกเอาไปต่อท้ายงวด ม.ค. 2565
ทำให้งวดสุดท้ายจริงๆ ยืดออกไป กลายเป็นงวดเดือน ก.ค. 2565
สภาพคล่องเรา ในช่วงนี้ ก็จะได้เพิ่มมาเต็มๆ เท่ากับค่างวด
การลดยอดชำระขั้นต่ำ
ใช้กับสินเชื่อหมุนเวียน พวกบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด
โดยจะลดเปอร์เซ็นที่ใช้คิดยอดชำระขั้นต่ำลง
ตัวอย่าง
บัตรเครดิต ยอดชำระขั้นต่ำ เดือนละ 10%
ยอดหนี้ 100,000 บาท
ปกติ ยอดที่ต้องชำระคือ 100,000 x 10% = 10,000 บาท
ขอลดยอดชำระขั้นต่ำ เหลือ 5%
ยอดที่ต้องชำระจะลดลง
เหลือแค่ 100,000 x 5% = 5,000 บาท
ลดภาระ
เพิ่มสภาพคล่องมาได้อีก 5,000 บาท
นอกจากนี้
สิ่งที่ควรเจรจากับแบงก์ ไปพร้อมกันด้วยเลย คือ
อัตราดอกเบี้ย
ขอลดด้วยครับ
จะทำให้เราได้ประโยชน์เต็มที่
แบงก์ได้ประโยชน์จากเงินต้นของเราที่ไม่ลดลง ทำให้ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว
ก็ควรลดอัตราดอกเบี้ยให้เราหน่อย
ไม่งั้นเดี๋ยวแบงก์จะรวยเกิน 555
ค่าธรรมเนียมต่างๆ
ถือโอกาสเจรจาขอลดไปด้วยเลยครับ
………
เข้าใจโปรแกรมต่างๆ เข้าใจเคล็ดลับแล้ว
เอาไปทำการบ้านอย่างที่โพสต์เมื่อวานบอกไว้
แล้วเจรจากับแบงก์ได้เลย
มีอะไรสงสัย
สอบถามเพิ่มเติมได้นะครับ